ความเป็นมา

พระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงถือเป็นพระราชภาระที่สำคัญที่จะทรงทำนุบำรุงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา และทรงปฏิบัติสืบเนื่องเป็นพระราชกรณียกิจมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เช่น ทรงจัดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกทรงให้ออกกฎหมายพระสงฆ์ ทรงให้ใช้วังเป็นสถานที่ศึกษาของพระภิกษุและสามเณร ทรงบอกธรรมด้วยพระองค์เองหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตมาบอกธรรม และเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เป็นต้น ในขณะเดียวกันได้ทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนาที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชนที่อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารโดยเสมอหน้า ฉะนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงตราไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา

จากพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ว่า “การสอบพระปริยัติธรรมภิกษุสามเณร นับเป็นราชการแผ่นดินอย่างหนึ่งด้วยอยู่ในพระราชกิจของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก เพราะฉะนั้นต่อมามีรับสั่งสังฆนายกทั้งปวงจึงประชุมสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร และมีเจ้าพนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรช่วยปฏิบัติดูแลตามตำแหน่งจนสำเร็จราชการ” แสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงเอาพระทัยใส่ในเรื่องการศึกษาของพระภิกษุและสามเณรเป็นอย่างมาก

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงว่า โดยที่พระภิกษุสามเณรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามพระวินัยโดยเคร่งครัดและธำรงรักษา ตลอดจนเผยแผ่พระธรรมคำสอนแก่ประชาชนทั่วไปอันเป็นการสร้างความสงบร่มเย็นให้เกิดขึ้นแก่สังคม ประเทศชาติ และแก่โลกถ้าหากพระภิกษุสงฆ์และสามเณร มีโอกาสได้รับการศึกษาพุทธธรรมในขั้นสูง สามารถค้นคว้าและทำความเข้าใจพระไตรปิฎกอย่างแตกฉานจะสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธพจน์ได้ด้วยตนเอง และนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องจนบรรลุธรรมแล้วนำไปสั่งสอนพุทธบริษัทต่อไปได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน การบำรุงพระภิกษุสามเณรด้วยวิธีการนี้จึงเป็นทางสำคัญที่จะช่วยจรรโลงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบต่อไป

การศึกษาของไทยแต่ดั้งเดิมเริ่มขึ้นในวัด โดยพระภิกษุเป็นผู้สอนลูกหลานไทยแต่โบราณจึงได้รับการศึกษาจากพระควบคู่ไปกับการอบรมศีลธรรมจรรยา ซึ่งนอกจากจะทำให้เข้าใจหลักพุทธธรรมอย่างลุ่มลึก สร้างวิธีคิดและการปฏิบัติตนเยี่ยงพุทธศาสนิกชนที่ดีแล้ว ยังทำให้ชาวไทยเข้าใจถึงรากเหง้าทางภาษาและวัฒนธรรมไทยอันเป็นส่วนช่วยธำรงความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของประเทศตลอดมาอีกด้วย

ในมหามงคลวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๗๖ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๔๖ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยขึ้น เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ และพระราชทานทุนประเดิมเริ่มแรกเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗ เพื่อสนับสนุนพระภิกษุและสามเณรให้มีโอกาสศึกษาพุทธศาสนาขั้นสูงจากสถาบันพุทธศาสนาในประเทศ อันได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และกองบาลีสนามหลวง เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๗ เป็นต้นไป นอกจากนั้นโครงการฯ ยังมีนโยบายที่จะพิจารณาการสนับสนุนในลักษณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง อันจะมีส่วนช่วยให้ระบบการศึกษาของพระสงฆ์ไทยตลอดจนการเผยแผ่ พุทธธรรมเป็นปึกแผ่นยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต

ประธานกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย


พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์

ดำรงตำแหน่งตั้งแต่
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗


นายเกษม วัฒนชัย

ดำรงตำแหน่งตั้งแต่
วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๒


พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

ประธานองคมนตรี
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่
วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ – ปัจจุบัน